รสชาติของสมุนไพรตามคัมภีร์แพทย์แผนไทย

รสชาติของสมุนไพรตามคัมภีร์แพทย์แผนไทย

ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยมีการนำสมุนไพร และอาหารต่าง ๆ มาใช้รักษาโรคได้อย่างมากมาย แต่รู้หรือไม่ว่า รสชาติของสมุนไพรไทยนั้นมีอะไรบ้าง

รสชาติของสมุนไพรแบ่งออกเป็น 9 รส + 1 รส ตามคัมภีร์แพทย์แผนไทย

1. รสฝาด – ชอบสมาน
เช่น ฝรั่ง ขมิ้นชัน ทับทิม มีฤทธิ์ในการสมานแผล ทั้งแผลสดและแผลเปื่อย พบในตำรับยารักษาอาการท้องร่วง โรคบิด สมานแผล

2. รสหวาน – ซึมซาบไปตามเนื้อ
เช่น น้ำผึ้ง อ้อย ชะเอมเทศ ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ แก้อาการอ่อนเพลีย แก้ไอ และเพราะมีฤทธิ์ซึมซาบไปตามเนื้อ สามารถแก้ฟกช้ำได้ พบในตำรับยาบำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย

3. รสเมาเบื่อ – แก้พิษ
เช่น ทองพันชั่ง ชุมเห็ดเทศ ผักสะแกนา รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักใช้ในการแก้พิษ แก้ปวดแผลจากพิษแมลง สัตว์กัด ต่อย พบในตำรับยาบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้อ่อนเพลีย

4. รสขม – แก้ทางดี และโลหิต
เช่น มะระขี้นก บอระเพ็ด ฟ้าทะลายโจร ช่วยลดความร้อนในร่างกาย แก้ไข้ แก้ร้อนใน ช่วยให้เลือดลมสูบฉีด พบในตำรับยาบำรุงน้ำดี ช่วยย่อยอาหาร

5. รสเผ็ดร้อน – แก้ลม
เช่น พริกไทย พริก กระวาน กระเทียม มีฤทธิ์แก้ลม ขับลม ขับเหงื่อ แก้จุกเสียด พบในตำรับยาแก้โรคลม ขับระดู ขับเหงื่อ บำรุงไฟธาตุ แก้ปวดท้อง ท้องอืด

6. รสมัน – แก้เส้นเอ็น
เช่น หัวแห้ว งา เมล็ดบัว เนื้อมะพร้าว ฟักทอง มีฤทธิ์บำรุงเส้นเอ็น สามารถนำมาทำยาทานวดแก้ปวดเมื่อย เส้นเอ็นตึง พบในตำรับยาบำรุงเส้นเอ็น บำรุงข้อ

รสชาติของสมุนไพรตามคัมภีร์แพทย์แผนไทย

7. รสหอมเย็น – บำรุงหัวใจ
เช่น เตยหอม พิมเสน หญ้าฝรั่น มีฤทธิ์ในการบำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย แก้ใจสั่น พบในตำรับยาบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้อ่อนเพลีย

8. รสเค็ม – ซึมซาบไปตามผิวหนัง
เช่น ใบกระชาย เกลือ ผักชะคราม เปลือกต้นมะเกลือ มีฤทธิ์แก้โรคผิวหนัง ขับเมือกในลำไส้ แก้เสมหะเหนียว รักษาบาดแผล พบในตำรับยาพัทธะ ยาแก้โรคทางผิวหนัง ฟอกโลหิต ดับพิษร้อน แก้เสมหะเหนียว

9. รสเปรี้ยว – กัดเสมหะ
เช่น ดอกกระเจี๊ยบ ใบมะขาม ส้มป่อย มีฤทธิ์ช่วยให้เลือดลมเดินดี แก้ไอ แก้กระหายน้ำ กวาดเสมหะ พบในตำรับยาแก้ทางเสมหะ แก้ไอ กัดเสมหะ ฟอกโลหิตระดู

+1 รสจืด – ดับพิษ แก้ไข้
เช่น เถาตำลึง ผักกาดน้ำ หญ้าถอดปล้อง ผักบุ้ง มีฤทธิ์เป็นกลาง เหมาะกับผู้พักฟื้นหรือธาตุอ่อน ช่วยระบายสารพิษตกค้างในร่างกาย ดับพิษ แก้ไข้ พบในตำรับยาแก้ไข้ ดับร้อน แก้ร้อนใน

รสชาติของตัวสมุนไพร ถือเป็นหนึ่งในหลักการสำคัญในการพิจารณาตัวสมุนไพรเพื่อนำมาใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยทานยาให้ถูกกับธาตุเจ้าเรือนและเพื่อแก้อาการเจ็บป่วยได้ถูกจุด

สิ่งเหล่านี้ คือ ภูมิปัญญาที่ตกทอดมา และถูกนำมาเป็นส่วนในการดูแลสุขภาพของคนไทย ตกผลึกเป็นองค์ความรู้ที่มีประสิทธิภาพในการดูแลรักษาจวบจนปัจจุบัน

Scroll to Top